
ป่าเขาหลวง บนเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนกลาง ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ป่าฝนแดนใต้" อันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของ "ยอดเขาหลวง" ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ ปกคลุมไปด้วยป่าดิบเขาและป่าดิบชื้น อันมีลักษณะเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่ยังสามารถพบเห็นพืชโบราณยุคไดโนเสาร์ได้ในป่าแห่งนี้ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ นับได้ว่าป่าเขาหลวงเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป

- ข้อมูลทั่วไป
"อุทยานแห่งชาติเขาหลวง" ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2517 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 9 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้ มีเนื้อที่ 356,250 ไร่ หรือประมาณ 570 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งหมด จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอช้างกลาง อำเภอลานสกา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพรหมคีรี และอำเภอนบพิตำ

- ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนกลาง ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวเหนือจรดใต้ขนานไปกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีที่ราบตามหุบเขาเล็กน้อย ดินบนภูเขาเป็นดินที่เกิดจากการผุสลายของหินแกรนิต เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง คลองกรุงชิง คลองเขาแก้ว คลองท่าแพ คลองระแนะ และคลองละอาย อันเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
- ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ตั้งอยู่บนคาบสมุทร จึงได้รับลมมรสุมที่พัดผ่านทะเลทั้งสองด้าน ทำให้ฝนตกเกือบตลอดปีและมีอากาศค่อนข้างเย็น มีเมฆปกคลุมถึงร้อยละ 14-15 ทำให้เกิดฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม ปริมาณฝนตกมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 3,500-4,000 มิลลิเมตร และฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม และอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28-30 องศาเซลเชียส ในช่วงเดือนเมษายน
- พรรณพืช
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ประกอบด้วยสังคมพืชส่วนใหญ่เป็นสังคมพืชป่าดงดิบ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ป่าดิบเขา และ ป่าดิบชื้น
ป่าดิบเขา (Montane Rain Forest) เป็นป่าที่ขึ้นอยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปจนถึงยอดเขาที่มีเมฆหมอกคลุม พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อเดือย หว้าเขา เสม็ดเขา แดงเขา และกำยาน เป็นต้น พืชคลุมดิน ส่วนใหญ่จะมีพืชหญ้าและเฟิน เช่น เฟินบัวแฉกใบใหญ่ และบัวแฉกใบมน ป่าดิบชื้น (Tropical Rain Forest หรือ Tropical Evergreen Rain Forest) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเกือบทั้งหมด พืชประจำถิ่นและไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียว สยาขาว กระบากดำ พันจำ หลุมพอ จำปาป่า และยมป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี กุหลาบพันปี เต่าร้าง บิโกเนียหรือก้ามกุ้ง มหาสดำ เป็นต้น พืชในวงศ์กล้วยไม้บางชนิดเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นที่พบเพียงแห่งเดียวในโลก เช่น สิงโตใบพัดเขาหลวง สิงโตอาจารย์เต็ม เอื้องสายเสิด เอื้องแดงหิน และเอื้องคีรีวง


- สัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติเขาหลวงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 327 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สำรวจพบ เช่น สมเสร็จ เลียงผา ลิงกัง กวางป่า นก ที่สำรวจพบ เช่น นกอินทรีดำ ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกหว้า นกเงือกหัวหงอก นกโพระดก นกพญาปากกว้างท้องแดง และนกกินปลี นอกจากนี้ในบริเวณเขาหลวงยังพบสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่หายากหลายชนิด เช่น งูลายสาบมลายู งูหลามปากเป็ด งูสามเหลี่ยมหัวหางแดง
เต่าจักร และกบตะนาวศรี ในบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธารของอุทยานแห่งชาติจะพบสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาพลวง ปลาไส้ขม ปลาชิวน้ำตก ปลาอีกอง ปลาติดหิน และปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์ ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2553 ที่ผืนป่ากรุงชิง
- แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง



- น้ำตกกะโรม
น้ำตกกะโรม เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นน้ำตกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการ 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 4 หนานน้ำราง ชั้นที่ 5 หนานผึ้ง ชั้นที่ 6 หนานเตย และชั้นที่ 7 หนานดาดฟ้า ซึ่งเป็นชั้นที่สวยงามที่สุด
- น้ำตกกรุงชิง
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล. 3 (น้ำตกกรุงชิง) เป็นพื้นที่ที่มีประวัติการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งในด้านความคิดในการปกครอง พื้นที่ผืนป่ากรุงชิงถูกครอบครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2517 อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 3 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการ 7 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 7 หนานวังเรือบิน ชั้นที่ 6 หนานจน ชั้นที่ 5 หนานโจน ชั้นที่ 4 หนานต้นตอ ชั้นที่ 3 หนานปลิว และชั้นที่ 2 หนานฝนแสนห่า ซึ่งเป็นชั้นที่สวยงามที่สุด และเคยมีการนำภาพพิมพ์ลงในธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2535


- น้ำตกพรหมโลก
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล. 1 (น้ำตกพรหมโลก) เป็นน้ำตกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่โด่ดเด่นแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 5 ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการ 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 หนานวังบ่อน้ำวน ชั้นที่ 2 หนานวังไม้ปัก ชั้นที่ 3 หนานวังหัวบัว และชั้นที่ 4 หนานวังอ้ายแล
- น้ำตกอ้ายเขียว
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล. 2 (น้ำตกอ้ายเขียว) เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีธรรมชาติงดงาม อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 5 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 หนานราง ชั้นที่ 2 หนานต้นเหรียง และชั้นที่ 3 หนานบังใบ ซึ่งเป็นชั้นที่สวยงามที่สุด


- น้ำตกท่าแพ
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล. 5 (น้ำตกท่าแพ) เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามและสามารถเข้าถึงได้ง่าย อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 14 ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการ 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 หนานแพน้อย และชั้นที่ 2 หนานนางครวญ
- น้ำตกเหนือฟ้า
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขล. 8 (น้ำตกเหนือฟ้า) เป็นต้นน้ำของ "แม่น้ำตาปี" เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม ลักษณะเป็นธารน้ำที่ไหลลงมาอย่างช้า ๆ จากน้ำตกหน้าเมือง มีแอ่งเล่นน้ำขนาดใหญ่ น้ำใสสะอาด ในปีพ.ศ. 2558 น้ำตกเหนือฟ้าได้รับการประกาศจากกรมควบคุมมลพิษให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาดที่สุดของประเทศไทย
- ความสำคัญทางประวัติศาสตร์


- น้ำตกกะโรม
- ปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์เสด็จประทับทอดพระเนตร
- ปี พ.ศ. 2458 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเสด็จประพาสน้ำตกกะโรมและทรงจารึกเป็นรูปพระอาทิตย์แผ่รัศมีที่หน้าผาชั้นที่ 7 หนานดาดฟ้า
- ปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประทับทอดพระเนตรน้ำตกกะโรม และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. 2460 ที่หน้าผาชั้นที่ 7 หนานดาดฟ้า
- วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จประพาสน้ำตกกะโรม


- น้ำตกพรหมโลก
- วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสน้ำตกพรหมโลก และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร” และ “ส.ก.” ไว้ที่หน้าผาน้ำตกชั้นที่ 1 หนานวังน้ำวน
- วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จประพาสน้ำตกพรหมโลก
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล



- ลานกางเต็นท์

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ 2 แห่ง
- ลานกางเต็นท์น้ำตกกรุงชิง -
- ลานกางเต็นท์น้ำตกเหนือฟ้า -

ติดต่ออุทยานแห่งชาติเขาหลวง / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
075 300 495 ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลวง (น้ำตกกะโรม)
075 460 463 ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวน้ำตกกรุงชิง
Facebook : อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช
Page : อุทยานแห่งชาติเขาหลวง - Khao Luang National Park
Tiktok : อุทยานแห่งชาติเขาหลวง (@khaoluang_np)
E-mail : Khaoluang2517@gmail.com